🚶🏽♀️🚶🏽♀️🚶🏽♀️🚶🏽♀️🚶🏽♀️🚶🏽♀️
13-09-2018
Day 9 Pondicherry - Chennai
สองข้างทางข้างวัดแขกใกล้ที่พักวันนี้เต็มไปด้วยพ่อค้าแม่ค้าที่นำเอารูปปั้นพระพิฆเนศมาวางขาย รูปปั้นทำด้วยดินเหนียวบ้างก็ปล่อยให้เป็นสีธรรมชาติบ้างก็ระบายสีสารพัดสี ตั้งแต่สีเหมือนจริงจนถึงสีล้วน แดง เขียว เหลือง น้ำเงิน ชมพู เรียกได้ว่ามีสารพัดสีจริงๆ นอกจากรูปปั้นแล้วยังมีของไหว้อื่นๆอีกมากมาย อ้อย มะพร้าว หญ้า กล้วย ดอกไม้ และ นม ตอนแรกฉันไม่เข้าใจที่เห็นคนนั่งขายนมเป็นถุงๆเหมือนกับนมที่ขายตามโรงเรียนสมัยก่อน ยังคิดอยู่ในใจว่าอยากจะลองชิมแต่คงต้องเอาไปต้มก่อนเพราะไม่ไว้ใจเรื่องความสะอาด แต่พอเข้าไปในวัดแขกจึงเห็นว่าเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องบูชาพระพิฆเนศ
สิบเอ็ดโมงเช้าเช็คเอาท์ออกจากที่พักแล้วนั่งเอาโต้มาสถานีขนส่ง หลังจากที่เสาะหาข้อมูลแล้วพบว่าค่าแท็กซี่จากพอนดี้ไปสนามบินเจนไนราคาสูงถึงสามพันกว่ารูปี ก็เลยตัดสินใจนั่งรถบัสราคาหนึ่งร้อยแปดสิบรูปีกลับมานอนที่เจนไนหนึ่งคืนก่อนที่จะเดินทางต่อวันถัดไป รถบัสธรรมดาๆที่ไม่มีแม้กระทั่งพัดลมแต่ก็ไม่ได้ร้อนโหดอะไรเพราะเปิดหน้าต่างมาตลอดทางสี่ชั่วโมง สื่อสารกับพนักงานเดินตั๋วจนมั่นใจว่ารถคันนี้จะใช้เส้นทาง ECR หรือ East Coast Road ซึ่งจะเป็นเส้นทางที่สวยกว่าเส้นทางอื่นเพราะถนนตัดเลาะเรียบชายฝั่งของอ่าวเบงกอล
สภาพรถไม่ได้เลวร้ายอะไร มีเบาะนุ่ม รถใหม่ และจอดพักแค่หนึ่งครั้ง รู้มาว่าราคาค่าโดยสารมีตั้งแต่ สี่สิบรูปีจนถึงหกร้อยรูปีแล้วแต่สภาพลักษณะของรถ วิวนอกหน้าต่างทำให้เวลาสี่ชั่วโมงผ่านไปรวดเร็ว ต้นตาล ต้นมะพร้าว ชายหาด ทะเลสีเข้ม รถจอดพักครึ่งทางรีบลงไปซื้อน้ำเพราะขวดที่ตามมาถูกคนนนั่งข้างหลังขอดื่ม(อีกแล้ว)ตั้งแต่เมื่อรถออกจากสถานีได้ไม่กี่นาที ยกขวดเก่าให้เขาแล้วรีบกัดการเปิดขวดใหม่ดื่มรวดเดียวครึ่งลิตรเผื่อมีคนขออีกจะได้ไม่หิวน้ำ คนอินเดียมีนิสัยแปลกๆหลายอย่าง นอกจากเรื่องขอกินน้ำและเรื่องชวนให้เลี้ยงข้าวแล้วก็ยังมีเรื่องการขอทาน ตอนที่นั่งรอรถอยู่ที่สถานีขนส่งผู้หญิงคนที่นั่งข้างๆยกมือมาส่งสัญญาณขอเงินและทำท่าว่าจะเอาไปซื้อข้าวกิน ฉันสังเกตเห็นว่าเขาแต่งตัวดี ใส่ส่าหรีสีสวย มีรองเท้าใส่ หิ้วกระเป๋าใบโต ใส่เครื่องประดับแวววาว ไม่ได้มันลักษณะเป็นขอทานโดยอาชีพแต่น่าจะเป็นคนเดินทางเหมือนกับฉัน หรือว่าการขอคือส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม
รถจอดให้ฉันลงก่อนที่จะเข้าเมืองเจนไน ฉันบอกเขาไว้ว่าขอลงก่อนเพราะที่พักอยู่นอกเมืองใกล้กับสนามบินจะได้ง่ายสำหรับการเดินทางวันพรุ่งนี้เพราะเมืองเจนไนรถติดอย่างมหาโหด แอบดีใจที่สื่อสารกับคนรถรู้เรื่องแต่ก็ลุ้นอยู่ตลอดทางเหมือนกัน จุดที่ลงจากรถเป็นปั๊มน้ำมันเล็กๆห่างจากที่พักสิบกิโลเมตรแต่คนขับเอาโต้เรียกค่าโดยสารสูงถึงสี่ร้อยรูปีพร้อมกับพูดจาไม่ค่อยรื่นหู ฉันตัดสินใจเดินจากจุดนั้นไปหาป้ายรถเมล์ห่างออกไปอีกสิบนาทีเดิน นั่งกดดูGoogle Map เห็นว่ามีหลายคันที่จะผ่านป้ายนี้สามารถพาฉันไปใกล้ที่พักได้ แต่รอเกือบยี่สิบนาทีรถก็ไม่มาสักที แดดช่วงบ่ายร้อนจัด เหงื่อเริ่มทะลุแผ่นหลัง รู้สึกหิว เหนื่อย และง่วงนอนเพราะเมื่อคืนก็นอนไม่หลับอีกแล้ว เอาโต้สีเหลืองใสขับผ่านหน้าฉันเลยเรียกมาเจรจาตกลงค่าโดยสารได้ที่สองร้อยห้าสิบรูปี นั่งเอาโต้รับลม กางแขน กางขา ให้ลมพัดจักกะแร้จนเหงื่อแห้ง
ที่พักตามคำแนะนำของเจ้าของที่พักคืนก่อนแปลกประหลาดมากเพราะอยู่ในระแวกที่น่าจะเรียกว่าเป็นสลัมที่ได้รับการพัฒนามาบ้างแล้ว แต่ห้องสะอาด พนักงานสุภาพและดูแลลูกค้าดีมาก ถ้าอยู่แต่ในห้องจะไม่รู้สึกอะไรแต่ถ้าออกไปพ้นบริเวณที่พักจะเป็นชุมชนแออัด ไม่มีร้านอาหาร ไม่มีร้านกาแฟ มีแต่ร้านขายของชำเล็กๆ ฉันไม่ได้ตกใจอะไรเพราะคนที่แนะนำก็บอกรูปลักษณ์ของที่พักไว้แล้ว ข้าวผัดใส่ผักที่สั่งผ่านพนักงานถูกนำมาส่งโดยรถมอเตอร์ไซค์จากร้านในเมืองถัดไป กลืนข้าวผัดแห้งๆแล้วตามด้วยน้ำเปล่าจนข้าวหมดน้ำหมดก่อนจะเผลอนอนหลับไป
ตกใจตื่นขึ้นมาตอนหัวค่ำเพราะเสียงประทัดชุดใหญ่ คีบรองเท้าแตะเดินออกจากห้องมาส่องดูหน้าประตูใหญ่เห็นผู้คนเดินกันไปมาคึกคัก เจอเจ้าของที่พักก็เลยสอบถามได้ความว่าวันนี้เป็นวันสำคัญของศาสนาฮินดูแต่เขาไม่ได้บอกว่าเป็นวันอะไร กลับมาที่ห้องคว้ากระเป๋าล้อคกุญแจห้องแล้วออกเดินตามมหาชนไป ประทัดยักษ์หลายสิบลูกถูกจุดตรงหัวมุมถนน ข้างหน้ามีไฟสีรูปพระพิฆเนศ ห่างออกไปมีวัวเที่ยมเกวียนมีพราหมณ์นั่งอยู่บนเกวียน โครตพลุหลายๆสิบลูกถูกจุดขึ้น ท้องฟ้าสว่างไสวไปหมด มันเป็นการจุดพลุที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่ฉันได้เห็นในระยะเวลาหลายปี และมันเกิดขึ้นในที่เล็กๆแห่งนี้ ยืนดูพลุแต่ก็กลัวประทัดเพราะเขาจะจุดสลับกัน แอบเห็นทั้งเด็กและผู้ใหญ่หลายคนขำเมื่อฉันยกมือขึ้นปิดหู ศาสนชนยื่นชุดบูชาให้พราหมณ์ กล้วย อ้อย หญ้า มะพร้าว และดอกไม้ มะพร้าวถูกมีดคมกริบของพราหมณ์ผ่าออกเป็นสองซีก เทน้ำมะพร้าวทิ้งแล้วเอาที่เหลือไปทำพิธีแล้วส่งคืนให้เจ้าของซึ่งก็คงนำไปบูชาต่อไป?
พิธีกรรมเสร็จสิ้นแล้ว ฉันเดินกลับมาที่พัก แอบสงสัยว่าเป็นวันอะไรกันแน่ก็เลยมาเปิดอ่านดูจากอินเตอร์เน็ต สิบสาม กันยายน วันที่พระพิฆเนศปรากฎขึ้นครั้งแรกหรือที่ชาวฮินดูเรียกวันนี้ว่า Kanesh chaturthi วันเกิดของพระพิฆเนศนั่นเอง
นามัสเต เจนไน
No comments:
Post a Comment